NEWS » News
คือข้อความจากชายฝั่งทะเลบาหลี
“ประเทศคุณก่อขยะพลาสติกมากเป็นอันดับสองของโลก เกาะที่คุณอยู่ปล่อยขยะสู่ท้องทะเลมากถึงปีละ 1.6 ล้านตัน”
สำหรับคนทั่วไปที่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงเช่นนี้ ส่วนใหญ่คงรู้สึกตกใจ เศร้าใจ หรือบางคนอาจแอบอับอาย และจบลงแค่นั้น แต่ไม่ใช่สำหรับศิลปินหนุ่มชาวอินโดนีเซียอย่าง อาริ บายูอาจิ เขาเลือกที่จะแปรเศษเชือกพลาสติกที่เก็บจากรอบ ๆ เกาะบาหลีมาถักทอเป็นผลงานศิลปะที่ส่งสารว่าด้วย “ขยะ-พลาสติก-ทะเล-บาหลี” และ “(ความเกี่ยวพันถึง) คุณ”
มุมมองและสารจากทะเลบาหลีดังกล่าว ถูกส่งผ่านงานนิทรรศการศิลปะ “Weaving the Ocean” ไปหลายแห่งทั่วโลก กลางยุคสมัยแห่งการระบาดโควิด และ 10 กุมภาพันธ์นี้ ถึงคิวกรุงเทพฯ
เกี่ยวพันยุ่งเหยิง จุดเริ่มต้น
“พลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเรามากมายจนมันกลายเป็นส่วนหลักของธรรมชาติไปแล้ว ชีวิตของเราเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์พลาสติก ประหนึ่งปะการังที่เติบโตบนเชือกพลาสติกตามแนวชายฝั่งซานูร์”
“Weaving the Ocean เริ่มจากความคิดที่จะทดแทนวัสดุธรรมชาติที่กำลังหายไป ด้วยวัสดุ “ธรรมชาติ” ใหม่ ที่หาได้ง่าย วันหนึ่ง ผมค้นพบเชือกพลาสติกจำนวนมากติดอยู่กับรากโกงกาง ใกล้ๆ หาดซานูร์ ชายฝั่งของบาหลี มันยึดโยงยุ่งเหยิงอยู่กับราก ราวกับเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของต้นไม้ นี่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมใช้ด้ายพลาสติกเป็นวัสดุทอ” ศิลปินระบุผ่านเว็บไซต์
อาริเริ่มหันมาสนใจปัญหาเรื่องขยะพลาสติกในช่วงปี 2558 ตอนที่เขาถ่ายภาพต้นโกงกางที่ถูกปกคลุม ไปด้วยขยะพลาสติก ในระหว่างที่พักอยู่ในบาหลีนั้น เขามักจะเห็นขดเชือกพลาสติกหลากสีพันอยู่กับ พืชพันธุ์ต่างๆ ตามชายหาด ถูกคลื่นซัดขึ้นมาตามชายฝั่งบ้าง หรือติดมากับวัตถุต่างๆ บ้าง แม้กระทั่ง ติดมากับสัตว์ทะเลและปะการัง เชือกพลาสติกที่ใช้กับแหอวนจับปลาเหล่านี้มักจะถูกคลื่นซัดขึ้นมา ตามชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมหาศาล
มลพิษพลาสติกเป็นอีกวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศหมู่เกาะนี้กำลังเผชิญ อินโดนีเซียปล่อยขยะพลาสติกเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากจีน และจากสถิติเกาะบาหลีผลิตขยะถึง 1.6 ล้านตันต่อปี 1 ใน 5 ของขยะทั้งหมดเป็นพลาสติก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ ทุ่มงบประมาณกว่า 1,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ เพื่อลดขยะพลาสติกให้ได้ 70% ภายในปี 2568 เกาะบาหลีก็แบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวอย่างถุงพลาสติก หลอด และโฟม ตั้งแต่ปี 2562
สะสางคลี่คลาย
“โปรเจกต์นี้เป็นการส่งสารถึงชาวบาหลี ว่าเราสามารถทำอะไรกันได้บ้าง ในวันที่ธุรกิจจากการท่องเที่ยวต้องหยุดลง คำตอบนั้นอยู่ในธรรมชาติ” อาริกล่าวบนเว็บไซต์
เกาะบาหลีดึงดูดนักท่องเที่ยว ถึง 6.2 ล้านคนในปี 2562 การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของเกาะแห่งนี้ หลังจากปิดพรมแดนเพราะสถานการณ์โรคระบาดกว่า 2 ปี ล่าสุดในวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา เกาะบาหลีเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องกักตัวเป็นเวลา 5 วัน
“สถานการณ์เศรษฐกิจในบาหลีเลวร้ายมากเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหารเกือบทั้งหมดบนเกาะปิดตัวลง ผมดีใจที่ได้ร่วมงานกับผู้ช่วยทั้งสี่คนของผมจนถึงตอนนี้ โปรเจกต์นี้สร้างรายได้ให้กับพวกเขาในช่วงเวลายากลำบากนี้ แต่พวกเขาก็เป็นเพียงหยิบมือหนึ่งในผู้คนจำนวนมากบนเกาะ ผมหวังว่าจะทำอะไรเพื่อพวกเขาได้มากกว่านี้”
อาริรวบรวมช่างฝืมือและชาวท้องถิ่นที่ไม่มีงานทำในช่วงโรคระบาดมาเข้าร่วมในโครงการ โดยเริ่มจาก การเก็บเศษเชือกจากชายหาด นำมาคลายออกอย่างพิถีพิถัน เปลี่ยนเศษขยะที่ไม่น่ามองนี้ให้กลายเป็นวัสดุชั้นดีสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ เกิดเป็นผลงานสิ่งทอที่แสดงความยกย่องต่องานฝีมือตามประเพณีพื้นถิ่น
“แต่ก่อนผมทำงานเป็นหมอนวด อาริก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของผม พอธุรกิจปิดตัวลงเพราะโรคระบาด ครอบครัวเราต้องย้ายไปอยู่ในห้องเล็ก ๆ ผมโชคดีมากที่ได้ช่วยงานอาริในโปรเจกต์นี้ เพียงแค่เดือนเดียวเราก็สามารถย้ายไปอยู่บ้านที่ใหญ่และดีกว่าเดิมได้แล้ว” วีดาร์โต คุณพ่อลูกสอง หนึ่งในผู้ช่วยของอาริ กล่าวขณะกำลังคลายเชือกให้เป็นเส้นด้าย
ถักทอต่อชีวิต
ชาวบาหลีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างสมดุลย์ระหว่างแสงและเงา ยึดถือการประนีประนอมระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วร้ายผ่านพิธีกรรมและการบูชาต่างๆ ในทำนองเดียวกัน Weaving the Ocean เปลี่ยนซากปรักหักพังของการทำลายล้างสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง เพื่อสร้างสมดุลอย่างสุนทรีย์
ความเชื่อตามแบบวัฒนธรรมบาหลี มอบบทบาทให้ท้องทะเลเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ ศาสนาของชาวบาหลีมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับสายน้ำ ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู ความเชื่อในเรื่องวิญญาณ มีการประกอบพิธีกรรมอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเกาะ ซึ่งมักจะถูกพูดถึงในฐานะ Agama Tirtha หรือ ศาสนาแห่งสายน้ำ
ในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบาหลี ท้องทะเลคือตัวแทนของความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ เสื้อคลุมที่จัดแสดงในนิทรรศการ มีที่มาจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจริงที่ใช้สวมใส่ในการประกอบพิธีบนชายหาด ซึ่งศิลปินมีโอกาสได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดท่ามกลางซากปรักหักพังของสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น
โปรเจกต์นี้มอบจุดมุ่งหมายและความภาคภูมิใจให้กับช่างฝืมือชาวบาหลี ยกย่องภูมิปัญญาที่มีมาช้านาน เกิดเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนทั้งความนิ่งสงบและความแปรปรวนของท้องทะเล เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อและวัฒนธรรมบาหลี นอกจากนั้นยังเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนที่เรากำลัง ประสบอยู่ด้วย
“โปรเจกต์นี้ให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ กับฉัน แต่ก่อนฉันเคยทำงานกับด้ายฝ้ายธรรมดา ๆ ตอนนี้ฉันเรียนรู้ที่จะใช้วัสดุใหม่ ๆ อย่างด้ายพลาสติก ซึ่งซับซ้อนกว่าเดิมเพราะขนาดที่ต่างกันของด้ายที่ได้จากขดเชือกพลาสติกแต่ละขด มันวิเศษมากที่เราสามารถยกระดับคุณค่าของขยะพลาสติกให้เป็นงานศิลปะได้” เอลเลน ช่างฝีมือผู้รับหน้าที่ถักทอผ้าออกมาเป็นลวดลายต่าง ๆ เล่า
“ในสถานการณ์โรคระบาดนี้ ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีในการทบทวนสิ่งที่เราทำ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราควรมองย้อนกลับไปยัง ธรรมชาติ และรากเหง้าวัฒนธรรมของเรา ทั้งสององค์ประกอบของชีวิตนี้ จะสามารถช่วยเราได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรชึ้นอีก
หากเรายึดมั่นในธรรมชาติ เราก็จะสามารถปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งสนับสนุนของเรามาเสมอ ผมหวังว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ ผู้คนตระหนักว่าธรรมชาติช่วยเราได้มากขนาดไหน และวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราจัดการกับสิ่งที่เราค้นพบในธรรมชาติได้ สองสิ่งนี้สำคัญมาก
ผมคิดว่าโปรเจกต์แบบนี้สามารถทำได้ในหลายประเทศ เพราะจริง ๆ แล้ว ผมก็แค่ใช้ด้ายพลาสติกมาเป็นวัสดุทอผ้า หากลองคิดถึงอารยธรรมต่าง ๆ บนโลกดู สิ่งทอ และ ผ้า มันเป็นมรดกของทุกอารยธรรมที่มีอยู่บนโลก ดังนั้นผมคิดว่าหากโปรเจกต์ได้เผยแพร่ไปในหลาย ๆ ที่บนโลก เราจะสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ผมทำอยู่ได้แน่นอน” อาริกล่าวในคลิปสัมภาษณ์
Weaving the Ocean
โปรเจกต์ Weaving the Ocean เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2563 เป็นการผสานความงดงามของวัฒนธรรมพื้นถิ่น “บาหลี” เข้ากับสิ่งแปดเปื้อนอย่าง “ขยะพลาสติก” เพื่อบอกเล่าปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกทางทะเล และฟื้นฟูชีวิตช่างฝีมือของชมุชนในสถานการณ์โรคระบาด ผ่านฝีมือของอาริ บายูอาจิ
อาริ ศิลปินชาวอินโดนีเซียวัย 47 จบการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาและทำงานในอินโดนีเซียก่อนจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนาดาในปี 2548 ที่ซึ่งเขาเริ่มต้นชีวิตด้านศิลปะ เขาเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ในมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย (Concordia University) มอนทรีออล จนถึงปี 2553 ปัจจุบันใช้ชีวิตไปมาอยู่ทั้งมอนทรีออลและบาหลี อาริเป็นที่รู้จักกว้างขวางกับผลงานศิลปะจัดวางที่ผสานวัสดุที่เขาพบจากที่ต่าง ๆ ในโลก ในฐานะตัวแทนหลากวัฒนธรรม
อาริ มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของวิถีชีวิต ผลงานของเขามักจะแสดงถึง การมองเห็นคุณค่าทางศิลปะในวิถีชีวิตที่ถูกเมิน ผ่านวัตถุหลากหลาย สถานที่ต่างๆ และบทบาทที่สิ่งเหล่านั้นถูกวางไว้ในสังคม ศิลปินเลือกใช้ของเก่าที่พบจากทั่วทุกมุมโลกมาใช้เป็นองค์ประกอบ และเป็นประเด็นหลักในงานเกือบทุกชิ้นของเขา แม้วัตถุเหล่านี้จะเป็นของเก่า แต่กลับกลายเป็นของใหม่ เมื่อถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์งานศิลปะ งานที่ถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปินที่มีความมุ่งมั่น ในการแก้ไขสถานการ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
งานของอาริได้จัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวมาแล้วหลายที่ทั่วโลก ได้แก่ Esplanade – Theatres on the Bay ประเทศสิงคโปร์ในปี 2557 และ 2562, Nunu Fine Art Taipei ประเทศไต้หวัน ในปี 2561 และ ปี 2564, Parkhaus im Malkastenpark เมืองดัสเซลคอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ปี 2561, Agnès B. Foundation Paris ที่ Sainte-Alvère ประเทศฝรั่งเศส ปี 2560, Redbase Foundation Jogjakarta ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2559 และ Kunsthal Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2559
Weaving the Ocean จะจัดแสดงในไทยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 2 เมษายน 2565 ณ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี กรุงเทพฯ โดยโครงการนี้จัดแสดงมาแล้วทั้งในประเทศเยอรมนี อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน และในปีนี้ยังมีแผนการจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ แคนาดา และออสเตรเลีย