ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา การสูญพันธุ์บนโลกเกิดขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่ายุคไหนๆ จนมีคำกล่าวที่ว่า เรากำลังอยู่ในยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 (The 6th Mass Extinction) ซึ่งครั้งนี้มีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์
หลายครั้งการสูญพันธุ์ไม่ได้เกิดกับสัตว์ใหญ่ที่สง่างามดึงดูดความสนใจ แต่เกิดกับแมลงตัวเล็กๆ กบเขียดตัวน้อยๆ ที่หายไปแบบเงียบๆ ไม่เป็นข่าว จะรู้กันก็แค่ในแวดวงนักวิชาการแคบๆ
ที่ผ่านมา งานด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะมักจะอยู่แยกกัน พูดกันคนละภาษา แต่วันนี้ ศิลปินคนหนึ่งกำลังทำให้โลกทั้งสองมาบรรจบกัน เขาคือศิลปินที่ทำงานค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก เพื่อสื่อสารเรื่องราวของการสูญพันธุ์ออกมาให้เข้าถึงคนทั่วไป
“ผมอยากให้ศิลปะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยสื่อสารเรื่องราวตรงนี้” โจ้-เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินหัวใจรักธรรมชาติกล่าวถึงผลงานครั้งล่าสุด ‘Reincarnation III – Ecologies of Life’ ซึ่งเพิ่งจัดแสดงที่ Warin Lab Contemporary ย่านเจริญกรุง ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา
ในการจัดแสดงครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ศิลปะให้เสพเท่านั้น แต่ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ทาง IUCN ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาที่ชวนนักวิทยาศาสตร์และศิลปินมาพูดคุยร่วมกันในหัวข้อ ‘คืนชีวิต คิดเผื่อธรรมชาติ’ โดยมี น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และ อาจารย์ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาและสัตว์น้ำจืด มาเป็นวิทยากรเพื่อเล่าเรื่องราวบทเรียนจากการสูญพันธุ์ นับตั้งแต่สมันไปจนถึงปลาตัวเล็กๆ
จาก ‘ผีเสื้อสมิงเชียงดาว’ ถึง ‘เนื้อสมัน’ – สายพันธุ์ที่ไม่มีวันกลับมา
ใครๆ ก็รู้ว่าผีเสื้อคู่กับดอกไม้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ไม่ใช่แค่มีดอกไม้แล้วผีเสื้อก็จะอยู่ได้
ความลับก็คือ หนอนผีเสื้อแต่ละชนิดกินพืชอาหารที่ต่างชนิดกัน ทำให้แม่ผีเสื้อต้องวางไข่บนใบของพืชกลุ่มนั้นเท่านั้น เช่น ผีเสื้อหนอนใบรักวางไข่บนใบของต้นรัก ผีเสื้อหนอนมะนาวก็จะวางไข่บนใบของพืชกลุ่มมะนาว เป็นต้น ดังนั้น หากพืชชนิดหนึ่งหายไป อาจทำให้ผีเสื้อกลุ่มหนึ่งหายไปเลยก็ได้
และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘ผีเสื้อสมิงเชียงดาว’ (Bhutan Glory) สายพันธุ์ย่อยหนึ่งซึ่งมีถิ่นอาศัยเฉพาะที่ป่าเชียงดาวเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่มีใครพบเห็นมันมานานกว่า 30 ปีแล้ว
การสูญพันธุ์ของผีเสื้อชนิดหนึ่งอาจไม่อยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไป แต่สำหรับคนรักผีเสื้ออย่างเรืองศักดิ์ นี่คือสิ่งที่น่าเสียดายอย่างมาก แม้เขาจะพยายามขึ้นดอยไปตามหาหลายครั้ง แต่ทว่าก็ไม่เคยพบเจออีกเลย
“ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นนักนักพันธุศาสตร์ว่า จะโคลนนิ่งมันกลับมาได้ไหม แต่สิ่งที่เขาถามกลับคือ โคลนนิ่งแล้วได้อะไร พืชอาหารของผีเสื้อก็ไม่มีแล้ว พื้นที่อาศัยก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว” เรืองศักดิ์บอกด้วยความเศร้า
ตัดภาพไปใน พ.ศ. 2561 เมื่อเขามีโอกาสแสดงผลงานศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่น เขาก็นึกถึงผีเสื้อชนิดนี้ขึ้นมา และตั้งคำถามต่อว่า นอกจากผีเสื้อสมิงเชียงดาวแล้ว โลกของเรามีสัตว์ชนิดไหนที่สูญพันธุ์ไปอีกบ้าง และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานศิลปะที่ชื่อ Reincarnation เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเพื่อสื่อสารประเด็นการสูญพันธุ์
ผลงานที่เขาแสดงครั้งนั้น มีทั้งภาพวาดของแรดขาวเหนือ (Northern White Rhino) ที่ตัวผู้ตัวสุดท้ายบนโลกตายลงในปีนั้น ผลงานเปเปอร์มาเช่หมาป่าญี่ปุ่น (Japanese Wolf) ที่เขาเลือกใช้กระดาษจากหน้าหนังสือที่มีเรื่องราวหรือภาพของหมาป่าชนิดนี้ และผลงานภาพพิมพ์ความละเอียดสูงของผีเสื้อสมิงเชียงดาว ที่เขาจงใจพิมพ์ออกมาเฉพาะส่วนปีก โดยเว้นส่วนลำตัวไว้
“ผมตั้งใจจะสื่อสารว่า ในการสะสมผีเสื้อของมนุษย์ เรามองเห็นแค่ปีกสีสวย แต่ไม่เคยมองเห็นชีวิตที่เหลือของมัน”
จากงานแรกที่ญี่ปุ่น มาสู่งาน Reincarnation II ที่สิงคโปร์ ที่เขาเลือกสื่อสารเรื่องของต้นตะเคียนแก้ว (Hopea Sangal) ต้นไม้ของสิงคโปร์ที่ต้นสุดท้ายถูกโค่นลงเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยเขานำดินจากพื้นที่ที่ต้นไม้นั้นเคยอยู่ มาผสมกับดินปั้น เพื่อใส่เบ้าพิมพ์ออกมาเป็นใบไม้เล็กๆ นับหมื่นใบ
และล่าสุดกับผลงาน Reincarnation III – Ecologies of Life ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาได้นำงานเก่าอย่างผีเสื้อสมิงเชียงดาวและหมาป่าญี่ปุ่นมาจัดแสดงอีกครั้ง และเพิ่มผลงานชิ้นล่าสุดคือรูปปั้นสมันขนาดเสมือนจริง
“ก่อนจะปั้นผมก็ไปหาข้อมูล ทั้งจากหนังสือเก่าๆ คำบอกเล่าของคนสมัยก่อน แต่ยิ่งค้นมากขึ้น กลับยิ่งพบว่าเราแทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับสมันเลย เราไม่รู้ว่าเสียงร้องมันเป็นยังไง ตัวมันสูงแค่ไหน หรือมีความสัมพันธ์กับสัตว์อื่นๆ ยังไง” ศิลปินหัวใจอนุรักษ์สะท้อนถึงความน่าเสียดาย
ไม่ใช่แค่ความรู้ที่หายไปเท่านั้น แต่ทั้งประเทศที่เป็นบ้านเกิดของสมัน กลับไม่เหลือแม้กระทั่งซากที่สมบูรณ์เพียงพอให้ศึกษา หากใครอยากจะเห็นซากสมันตัวจริงที่สตัฟฟ์ไว้ ก็ต้องบินไปดูไกลถึงพิพิธภัณฑ์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
“ตอนไปแสดงงานที่ฝรั่งเศส ผมก็ได้เข้าพิพิธภัณฑ์นี้ พอได้เห็นซากสมันของจริง ผมยืนน้ำตาไหลเลย คือเขาเก็บรักษาดีมาก ส่วนบ้านเรากลับไม่มีอะไรเลย อย่างดีสุดก็น่าจะแค่เขาที่ประดับตามฝาผนัง” เรืองศักดิ์เล่า
ด้วยความที่สมันมีเขาขนาดใหญ่และแตกกิ่งก้านสาขาอลังการ ทำให้สมันต้องอาศัยในที่โล่ง ไม่สามารถเข้าพุ่มทึบได้เพราะเขาจะไปเกี่ยวกิ่งไม้ ทำให้สมันตกเป็นเป้าของการล่าอย่างง่ายดาย
“สมัยก่อนเวลาเขาล่าสมัน เขาจะใช้วิธีเอาเขาของสมันตัวเล็กๆ มาฝนให้บาง ทำที่คาดไว้กับหัว แล้วคลานไปใกล้ สมันก็นึกว่าตัวผู้ตัวอื่นมาแย่งพื้นที่ มันก็จะเข้ามาหา คนที่แอบอยู่ก็ใช้ฉมวกแทง” อาจารย์ชวลิตเล่าถึงการตายอย่างน่าเสียดายของสมัน ซึ่งในสมัยนั้น หนังสมันถือเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ส่งออกกันนับแสนชิ้นต่อปี”
แน่นอนว่าเมื่อการล่าดำเนินไปในระดับนี้ สุดท้ายย่อมลงเอยด้วยการหมดลง และครองตำแหน่งกวางกลุ่มเดียวของโลกที่สูญพันธุ์ในรอบร้อยปี
“สมัยก่อนคนไทยไม่ได้แยกระหว่างเก้ง กวาง สมัน ละมั่ง เราเรียกเหมาะรวมว่า ‘เนื้อ’ เหมือนกันหมด อย่างคำว่า ‘เนื้อสวรรค์’ ที่เรากินทุกวันนี้ จริงๆ แต่ก่อนคือเนื้อสมัน ต่อมาพอสมันหายไป เลยใช้เนื้อวัวแทน และเปลี่ยนจากคำว่าเนื้อสมันเป็นเนื้อสวรรค์” อาจารย์ชวลิตเล่าเกร็ดความรู้ที่ทั้งน่าสนใจและน่าเศร้าใจไปพร้อมๆ กัน
“สมันตัวสุดท้ายเท่าที่รู้กัน ก็คือตัวที่ถูกเลี้ยงในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งวันหนึ่งก็ถูกชายขี้เมาตีตาย”
และนั่นก็คือบทอวสานที่ไม่น่าเกิดขึ้นของกวางที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
ในการสร้างผลงานรูปปั้นสมันตัวนี้ของเรืองศักดิ์ เขาเล่าว่า ได้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานว่าเคยพบสมันในอดีต เช่น ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ข้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต เพื่อไปเก็บดินและวัสดุจากพื้นที่นั้นมาปั้น ซึ่งสิ่งที่พบก็คือ หลายพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสมบูรณ์ที่สมันเคยอยู่ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่เขามาทิ้งขยะก่อสร้าง
ศิลปินยืนเล่าให้เราฟังข้างรูปปั้นสมันที่มีเศษแก้วปักอยู่บนหลัง
สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่สัตว์ชนิดหนึ่ง แต่คือทุ่งน้ำท่วมอันแสนสมบูรณ์ที่ปัจจุบันถูกถมจนไม่เหลือเค้าเดิมอีกแล้ว
บทเรียนจากกระเรียนไทย – ความหวังครั้งใหม่ของงานอนุรักษ์
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว นกกระเรียนไทยถูกขึ้นแท่นให้อยู่ในสถานะ ‘สูญพันธุ์จากธรรมชาติ’
แม้จะเคยมีความร่วมมือกับต่างชาติในการนำนกกระเรียนจากออสเตรเลียมาปล่อย แต่สุดท้ายก็ไม่รอด ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อม หรือนกกระเรียนที่นำมาปล่อยเป็นคนละชนิดย่อยกับที่เคยอยู่ที่ไทย แต่ทีมนักวิจัยก็ไม่หมดหวัง ความพยายามครั้งใหม่เริ่มขึ้นเมื่อได้รับบริจาคไข่นกกระเรียนจากทางชายแดนเขมร ซึ่งคราวนี้เป็นชนิดย่อยเดียวกับที่เคยมีในไทย และได้ถูกนำมาเพาะเลี้ยงที่สวนสัตว์โคราช
“เมื่อสามสิบปีก่อน เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์โคราชมีความรู้น้อยมาก เริ่มลองผิดลองถูก เลี้ยงเหมือนเลี้ยงไก่ เลี้ยงนกอื่นๆ จนเริ่มผสมพันธุ์นกกระเรียนได้สำเร็จ แต่ลูกนกที่เกิดมาไม่สมบูรณ์ทุกตัว เกิดมานิ้วเท้างอบ้าง จะงอยปากบิดบ้าง ตายไปบ้าง” น.สพ.ดร.บริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ฯ เล่าย้อนให้ฟังถึงความพยายามในยุคนั้น ที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนพยายามเรียนรู้จากนกกระเรียนซึ่งเป็นความท้าทาย และต้องใช้เวลาราว 7 ปี กว่าที่จะได้ลูกนกตัวแรกที่เกิดในกรงเลี้ยง และใช้เวลาอีกกว่าสิบปี กว่าที่จะเพาะลูกนกได้มากพอในแต่ละปี (มากกว่า 10 – 20 ตัว) เพื่อทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
แต่ความยากกว่าสิบปีนั้น เป็นเพียงแค่บันไดขั้นแรก ความยากข้อต่อมาก็คือ การหาสถานที่เหมาะสมในการปล่อย
การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เปิดกรงให้นกบินออกไปแล้วจบ แต่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในทุกมิติของชีวิตนกกระเรียน เพื่อให้มั่นใจว่าหากปล่อยไปแล้วนกจะรอด
“เราร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยมากในการศึกษา ซึ่งเราไม่ได้เริ่มจากนักปักษีวิทยานะ แต่เริ่มจากนักนิเวศวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ ไปวิจัยว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแบบไหน ที่ใหน ที่จะเป็นบ้านของนกกระเรียนได้ ปัจจัยคุกคามคืออะไร ในอดีตมันหายไปจากประเทศไทยได้ยังไง มันกินแค่ปูปลากุ้งหอยอย่างเดียวหรือเปล่า ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนเราทางเขมรและเวียดนามว่าไม่ใช่ ถ้าในช่วงหน้าแล้ง เขาจะกินหญ้าแห้วทรงกระเทียม หน้าตาเหมือนต้นหอมเขียวๆ หน้าฝนจะแทงมาเหนือน้ำ พอน้ำแห้งมันจะสะสมอาหารในหัวที่อยู่ใต้ดิน นกกระเรียนจะใช้ปากจิกกิน” สัตวแพทย์นักอนุรักษ์เล่าถึงข้อมูลที่ไม่ง่ายในการได้มา
ในขณะที่นักวิจัยฝั่งหนึ่งวุ่นอยู่กับการศึกษานิเวศวิทยาของนกกระเรียน นักวิจัยในสวนสัตว์ก็ต้องเตรียมพร้อมลูกนกที่จะปล่อย โดยมีโจทย์ยากอย่างที่ 3 คือ เลี้ยงลูกนกอย่างไรให้มันไม่คุ้นเคยกับคน
“นกที่จะปล่อย ต้องเห็นคนแล้วบินหนี ไม่ใช่วิ่งเข้าหา ไม่งั้นเขาจะเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย” หมอบริพัตรอธิบาย ซึ่งทางออกก็คือการเลี้ยงในรูปแบบที่เรียกว่า Isolation Rearing คือการเลี้ยงแยกจากคน โดยคนที่จะเข้าไปให้อาหารต้องพรางตัวด้วยชุดคลุมสีขาว-แดง เลียนแบบสีขนนกกระเรียน
จากความพยายามของทุกฝ่าย ทำให้ในที่สุดการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติก็เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเป็นการปล่อยในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือ Soft Release ที่เริ่มจากนำนกเด็กมาอยู่ในกรงที่ติดตั้งในพื้นที่ เพื่อให้นกคุ้นชินกับสภาพดินฟ้าอากาศ และเมื่อนกคุ้นกับสถานที่ สภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวแล้ว ค่อยๆ ลดปริมาณอาหารลง ให้นกหากินเองมากขึ้นในกรง จนในที่สุดทีมงานจะเปิดกรงให้เขาหากินอย่างอิสระตามธรรมชาติต่อไป โดยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมไว้ที่ตัวนก เพื่อติดตามตำแหน่งการหากินและพฤติกรรมประจำวัน
และนั่นก็มาถึงความยากลำดับที่ 4 การติดตามหลังปล่อย
“ข้อมูลจากดาวเทียมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีนักวิจัยตามไปดูจริงๆ ในพื้นที่ด้วยว่านกอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง ตอนไหนหากิน ตอนไหนพักผ่อน ตามนกตั้งแต่เช้ายันเย็น นี่เป็นงานของนักปักษีวิทยาภาคสนามที่ต้องอึดและทนแดดทนฝนมาก รวมถึงต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วย” หมอบริพัตรพูดถึงอีกหนึ่งสายงานที่หนักหนาไม่แพ้กัน
จนกระทั่ง พ.ศ. 2557 นกที่ปล่อยเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ และ 2 ปีถัดมาก็พบการทำรังวางไข่และลูกนกก็ฟักเป็นตัวสำเร็จ นับเป็นลูกนกกระเรียนที่เกิดเองตามธรรมชาติครั้งแรกในรอบ 30 กว่าปี ซึ่งทำให้นักวิจัยได้เฮลั่นราวกับวิศวกรนาซ่าสามารถนำยานลงจอดบนดาวอังคาร และนับจากนั้น การเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนก็ดำเนินต่อไป ควบคู่กับการจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่ของพ่อแม่นกตามธรรมชาติ ซึ่งบางปีก็มากถึง 10 รัง
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ น้ำสำคัญกับนกกลุ่มนี้มาก อย่างเช่นปีก่อนที่น้ำแล้งมาก ขนาดที่อ่างเก็บน้ำแห้งจนลงไปเดินได้ ปีนั้นนกกระเรียนไม่มีวางไข่สักรังเลย พอปีต่อมามีฝนปกติ นกก็กลับมาวางไข่” หมอบริพัตรย้ำถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีต่อนกกระเรียนไทย
และงานชิ้นสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้พวกเขาเปิดใจพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ ซึ่งหนึ่งในโมเดลที่นำมาใช้ก็คือการทำแบรนด์ ‘ข้าวสารัช’ ที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของนกกระเรียนที่ว่า Sarus Crane โดยเงื่อนไขของข้าวที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์นี้ได้คือ ต้องเป็นนาอินทรีย์ที่อนุญาตให้นกกระเรียนเข้ามาอาศัยหากินด้วย
“นกกระเรียนกินปู กินหอยเชอรี่ กำจัดวัชพืชในนาข้าว ชาวนาก็ได้ประโยชน์จากนิเวศบริการของนกกระเรียน แถมขายข้าวได้ราคาดีขึ้น ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เขาก็แฮปปี้ นี่เป็นโมเดลที่ได้มาจากเขมรที่เขาทำกับนกช้อนหอย (Ibis) ซึ่งเราไม่คิดฝันว่าจะสำเร็จ แต่เราเจอพี่น้องชาวนาที่ตั้งใจและรักนกมาก พอมาถึงตรงนี้ งานของนักวิจัยจะเปลี่ยนไปอีกอย่าง คือจัดค่ายเยาวชน ตั้งศูนย์เรียนรู้ ฝึกไกด์ท้องถิ่น” หมอบริพัตรเล่า
ความตื่นเต้นที่นกกระเรียนไทยกลับสู่ผืนนาบุรีรัมย์ไม่ได้หยุดอยู่แค่กลุ่มนักวิจัยเท่านั้น แต่คนทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ก็เริ่มรับรู้และตื่นเต้นตามไปด้วย อย่างเช่นในกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่จัดขึ้นที่บุรีรัมย์ ก็มีนกกระเรียนไทยเป็นมาสคอตชื่อ ‘น้องเหินหาว’ ส่วนบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่ก็เสนอตัวเข้ามาช่วย โดยบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อก่อตั้งศูนย์เรียนรู้นกกระเรียนไทย หรือทางโรงแรมอมารีในพื้นที่สนามกีฬาใหญ่ของบุรีรัมย์ ก็นำข้าวสารัชมาวางจำหน่ายในล็อบบี้ ทางด้านภัตตาคารหรูก็มีข้าวสารัชในเมนู ไปจนถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนขององค์กรสิ่งแวดล้อมมากมายทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงคนทั่วไปที่บริจาคให้ผ่านโครงการอุปการะนกกระเรียนไทย จนการฟื้นฟูนกกระเรียนถือเป็นหนึ่งโมเดลของความสำเร็จในแวดวงอนุรักษ์
“เป็นความมหัศจรรย์มากที่นกพาคนเหล่านี้ให้เข้ามาทำงานด้วยกัน จนเปลี่ยนสถานภาพนกกระเรียนไทยจาก Extinct in the Wild มาเป็น Critical Endangered ได้” หมอบริพัตรเล่าด้วยความภูมิใจ
“โมเดลของความยั่งยืนก็คือ นกเอาอะไรมาให้ชาวบ้าน มันเป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม ความภูมิใจ มันมีรายได้กลับมาสู่ครอบครัว สู่ชุมชนด้วย ทุกอย่างไปด้วยกัน ทั้งความรัก ความเมตตา ความสวยงาม ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ” หมอบริพัตรสรุป
อาจไม่ผิดนักหากจะพูดว่า นี่คือตัวอย่างของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่กินได้
ปลาซิวสมพงษ์สุดหายาก – ประวัติศาสตร์ต้องไม่ซ้ำรอย
ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งในแวดวงอนุรักษ์ นั่นคือการค้นพบปลาซิวสมพงษ์ในธรรมชาติ
สำหรับคนทั่วไป นี่ก็แค่ปลาตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่สำหรับคนในวงการปลาน้ำจืดแล้ว ดีกรีความน่าตื่นเต้นครั้งนี้เทียบเท่าการที่มีคนพบสมันเดินอยู่กลางทุ่งรังสิตในยุค 4G
“ปลาซิวสมพงษ์ถือว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งหนึ่งในร้อยของโลก ที่ผ่านมาเห็นกันอยู่แค่ในตู้ปลา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ แต่เราไม่เคยรู้ว่าในธรรมชาติมันอยู่ที่ไหน” อาจารย์ชวลิตให้ข้อมูล
ปลาซิวชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อครั้งแรกเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เมื่อนักเลี้ยงปลาสวยงามที่ต่างประเทศเจอปลาชนิดนี้ปนอยู่กับปลาซิวอื่นๆ ที่ส่งไปจากเมืองไทย และเมื่อศึกษาก็พบว่าเป็นปลาชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีบันทึกมาก่อน จึงตั้งชื่อว่า ปลาซิวสมพงษ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ คุณสมพงษ์ เล็กอารี ผู้ส่งออกปลาสวยงามยุคบุกเบิกของไทย
นับจากวันนั้น ผู้สนใจปลาน้ำจืดก็พยายามตามหาปลาชนิดนี้ในธรรมชาติหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยพบเจอ จนกระทั่งหลายสิบปีผ่านไป เมื่อมีนักวิจัยที่กำลังศึกษาเรื่องการเลี้ยงปลาร่วมกับนาข้าว เจอตัวอย่างปลาที่ระบุชนิดไม่ได้ และโพสต์ถามลงโซเชียลมีเดีย ข่าวนี้ก็ได้สร้างความตื่นเต้นไปทั่ววงการปลาน้ำจืด
นี่คือการพบถิ่นอาศัยในธรรมชาติของปลาซิวสมพงษ์เป็นครั้งแรกของโลก
สถานที่นั้น ก็คือทุ่งใหญ่ท่าเรือ-ปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสาธารณะอันอุดมสมบูรณ์ที่หลงเหลืออยู่แค่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย
“ผมเรียกว่าพื้นที่แบบนี้ว่า เป็นระบบนิเวศที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการท่วมและลดของน้ำตามฤดูกาล ทำหน้าที่เหมือนแก้มลิง ช่วงน้ำหลาก น้ำก็จะมาเก็บตรงนี้ ทำให้ข้างล่างน้ำไม่ท่วม ตะกอนที่มากับน้ำก็จะเป็นปุ๋ยให้นาข้าว” อาจารย์ชวลิตอธิบายถึงความพิเศษของระบบนิเวศนี้ที่ถูกหลงลืม
“ปัจจุบันเรารู้แค่ว่าปลาซิวสมพงษ์วางไข่ที่นี่ในช่วงน้ำท่วม แต่ในช่วงน้ำลด เรายังไม่รู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหน มีคนพยายามไปดำน้ำตามหาในลำคลองใกล้ๆ ก็ไม่เจอ”
สำหรับทุ่งใหญ่ปากพลี ไม่ใช่แค่เป็นบ้านแห่งสุดท้ายของปลาซิวหายากชนิดนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งอาศัยทำรังของเหยี่ยวอพยพหลายชนิด และน่าจะเป็นพื้นที่สุดท้ายในไทยที่ชาวบ้านยังปลูกข้าวป่าพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ยืดหนีน้ำได้หลายเมตร เมื่อน้ำลด ชาวบ้านก็จะนั่งเรือเกี่ยวข้าว และข้าวป่าประเภทนี้คือวัตถุดิบชั้นดีของแป้งข้าวเจ้า ที่นำไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยวและขนมไทยหลายชนิด
“แต่ก่อนที่ราบภาคกลางก็เป็นทุ่งน้ำท่วมแบบนี้ แต่ต่อมาระบบนิเวศเปลี่ยนไป ทั้งเปลี่ยนเป็นการทำนาปรัง ทั้งนิคมอุตสาหกรรม จนน้ำเสีย” อาจารย์ชวลิตเล่าถึงสิ่งที่สูญเสียไปที่ยิ่งใหญ่กว่าปลาซิวสมพงษ์
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีผล โดยเฉพาะถ้าฝนแล้ง ก็อาจกระทบต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในระบบนิเวศนี้ รวมทั้งการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำ รอบๆ ป่าเขาใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อระดับน้ำขึ้นน้ำลงของทุ่งน้ำท่วม รวมถึงคุณภาพน้ำ ซึ่งอาจทำให้ปลาซิวชนิดนี้หายไป พร้อมๆ กับสัตว์น้ำและพืชพันธุ์หลายชนิดที่เรายังไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อ ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีรายได้จากการจับปลาในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งไม่เคยมีใครประเมินเป็นตัวเลข ดังเช่นบทเรียนจากการหายไปของปลากดหัวผาน หลังการสร้างเขื่อนที่กลางน้ำบางปะกงจนทำให้คุณภาพน้ำแย่และปิดกั้นเส้นทางของปลานี้
“ข้อได้เปรียบของปลาซิวสมพงษ์เมื่อเทียบกับนกกระเรียนคือ มันยังไม่หายไป การอนุรักษ์ไว้ง่ายกว่าการทำให้กลับมาเยอะมาก” อาจารย์ชวลิตสรุปประเด็นสำคัญ
“การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่การรักษาแค่ชนิด ซึ่งเป็นแค่ตัวบ่งชี้ แต่คือการรักษาระบบนิเวศทั้งระบบ การที่สัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไป ก็เหมือนกับการที่น็อตบางชิ้นถูกดึงออกไปจากรถยนต์ ชิ้นแรกอาจไม่เป็นอะไร แต่ถ้าดึงออกไปเรื่อยๆ วันหนึ่งรถจะวิ่งไม่ได้ แต่ถ้าหากเป็นน็อตที่ถูกดึงออกไปจากเครื่องบิน ก็เป็นเรื่องสาหัสกว่าได้”
สื่อสารสู่สาธารณะ – เมื่อศิลปะส่งเสียง
“สัตว์ทั้งสามชนิดที่เราพูดถึงในวันนี้ล้วนอยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ นั่นแปลว่า การจะทำให้สัตว์เหล่านี้อยู่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน พวกเขาต้องรู้ว่านี่คือตัวอะไร สำคัญยังไง แล้วมันจะนำอะไรมาสู่ชุมชน จนเกิดเป็นความหวงแหน ความภาคภูมิใจ ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง ก็ต้องมีคนที่อื่นเข้าไปบอกว่า ของมีค่าอยู่หลังบ้านคุณนะ อาจจะเริ่มจากเด็ก จากผู้เฒ่า ครู หรือผู้นำชุมชน ที่จะเป็นผู้นำชักชวนให้คนอื่นมาสนใจ” หมอบริพัตรให้ความเห็นถึงแนวทางอนุรักษ์ที่ควรจะเป็น
“ทั้งสื่อ นักเขียน ศิลปิน ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักอนุรักษ์ แต่แค่เราเห็นคุณค่า แล้วเอาสิ่งที่กระทบใจออกมาสื่อสาร ทำยังไงที่ให้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีเรื่องราวพวกนี้อยู่ในชีวิตของคน อยู่ในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์ ในติ๊กต่อก หรืออะไรก็แล้วแต่” หมอบริพัตรพูดถึงความหวังที่อยากเห็น
ดังเช่นที่แกลเลอรี่ศิลปะที่ชื่อ Warin Lab Contemporary แห่งนี้ ฝน-สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ ตั้งใจเปิดขึ้นมาสำหรับแสดงงานศิลปะเพื่อสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งเธอเล่าว่า แรงบันดาลใจในการก่อตั้งมาจากเมื่อครั้งที่ไปดูนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในเชียงใหม่ ที่ศิลปินได้แสดงภาพถ่ายงานศพของคนหลายร้อยคนที่ถูกฆาตกรรม ซึ่งเป็นผลจากการต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างในพื้นที่
“เราออกมาจากนิทรรศการนั้นด้วยความรู้สึกสะเทือนมาก เรารู้สึกว่า ทำไมเราไม่เคยรู้เลยว่าเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศเรา คนเหล่านี้โดนกดขี่ แต่เราไม่เคยรู้ เหมือนเราอยู่ในโลกบับเบิลที่เรื่องราวใน News Feed จะมีเฉพาะเรื่องราวแคบๆ
“เรามาดูศิลปะ แต่เราได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนในชีวิต ซึ่งที่ผ่านมา เราแค่ใช้ศิลปะสื่อสารเรื่องความสุนทรีย์เท่านั้น แต่พอเราเห็นนิทรรศการนั้น ทำให้เราเริ่มอยากทำประเด็นด้านสังคม อยากให้ศิลปะมีบทบาทมากกว่าแค่ความสุนทรีย์” เจ้าของแกลเลอรี่บอกเล่าถึงความตั้งใจ
และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งนี้ และด้วยความที่ประวัติของพื้นที่นี้คือบ้านเก่าของ นพ. บุญส่ง เลขะกุล นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของเมืองไทย ผู้ริเริ่มหนังสือคู่มือดูนก ดูผีเสื้อ และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าและพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ทำให้สุคนธ์ทิพย์ตั้งใจว่า ธีมของปีแรกนี้จะใช้พื้นที่สื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการแสดงผลงานศิลปะจัดวางในชื่อ ‘Swamped : ท่วม’ ที่พูดถึงปัญหาขยะและเศรษฐกิจหมุนเวียน และเธอก็ตั้งใจว่าจะสื่อสารในธีมสิ่งแวดล้อมทั้งปี
“การสื่อสารผ่านศิลปะมันเสพง่าย เข้าถึงกลุ่มคนอายุน้อยลง อย่างในช่วงงาน Bangkok Design Week ก็มีคนเข้ามาถ่ายรูปเยอะมาก ซึ่งคนเหล่านั้นอาจไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ก็หวังว่ามันจะเป็นแรงกระเพื่อมอย่างหนึ่ง” สุคนธ์ทิพย์กล่าวถึงความหวัง
“เราไม่อยากให้นิทรรศการของเราเป็นการบ่น แต่อยากให้คนออกไปรู้สึกว่า การกระทำของเราทุกอย่างมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราอาจพาสมันกลับมาไม่ได้ แต่เราก็มีอีกหลายสิ่งที่ยังทำได้ ซึ่งทุกคนก็จะมีแนวทางของตัวเอง เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนการหยอดเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ในใจเขา แล้วให้มันไปบานต่อข้างนอก” เจ้าของแกลเลอรี่ทิ้งทาย