NEWS » News, Reincarnations III : Ecologies of life

‘เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล’กับนิทรรศการศิลปะสื่อผสม จับประเด็นสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่ใกล้จะสูญพันธุ์

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี (Warin Lab Comtemporary) ชวนคนรักงานศิลป์ ผ่อนคลายช่วง Work from Home เข้าชมนิทรรศการออนไลน์ Reincarnations III-Ecologies of Life ผลงานของ เรืองศักดิ์อนุวัตรวิมล โครงการศิลปะสื่อผสมต่อเนื่องที่ไม่สามารถเปิดให้เข้าชมที่แกลเลอรี่ได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Reincarnations เป็นโครงการศิลปะสื่อผสมที่สร้างสรรค์โดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมลโดยจับประเด็นสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่ใกล้จะสูญพันธุ์รวมถึงสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งไม่ได้เป็นการสูญพันธุ์โดยธรรมชาติแต่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติและบิดเบือนประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ทางความเจริญและเศรษฐกิจ โครงการต่อเนื่องReincarnations ได้รวบรวมและศึกษาพรรณไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ หลากหลายสายพันธุ์ โดยศิลปินต้องการแสดงให้เห็นว่าการสาบสูญของสายพันธุ์นั้นๆ มีผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อระบบนิเวศ และยังต้องการบอกเล่าเรื่องราวนี้ให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง

เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล เริ่มโครงการ Reincarnations เมื่อปีพ.ศ.2561 ระหว่างที่ร่วมโครงการศิลปินพำนัก ณ Center of Contemporary Art ที่เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น โดยทำวิจัยเรื่องการสูญพันธุ์ของกลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างแรดขาวเหนือในแอฟริกา ผีเสื้อสมิงเชียงดาวในประเทศไทย และหมาป่าญี่ปุ่น จากนั้น ในปี พ.ศ. 2562 เรืองศักดิ์ได้พัฒนาโครงการ Reincarnations II เพื่อจัดแสดงในงาน Singapore Biennale 2019 โดยศิลปินนำเสนอเรื่องราวของต้นไม้สองสายพันธุ์ในประเทศสิงคโปร์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่าง ตะเคียนแก้ว (Hopea sangal)และ มะค่าแต้ (Sindora wallichii)

สำหรับ Reincarnations III ซึ่งกำลังจัดแสดงที่ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ศิลปินเจาะประเด็นการสูญพันธุ์ของสัตว์ ซึ่งเกิดจากการเข้ามาแทรกแซงของมนุษย์ นิทรรศการนี้ประกอบไปด้วยผลงานสองมิติและสามมิติที่ขยายผลจากงานวิจัยของเรืองศักดิ์เกี่ยวกับผีเสื้อสมิงเชียงดาว ซึ่งพบได้เฉพาะบนดอยเชียงดาวทางภาคเหนือของประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ผีเสื้อสมิงเชียงดาวเป็นผีเสื้อพันธุ์หายากที่มีความสวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยคาดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2513-2523 ด้วยสาเหตุจากการค้าและการสะสมเป็นสมบัติส่วนตัวอย่างไม่เป็นธรรม และเรื่องราวของหมาป่าญี่ปุ่นที่ถูกบันทึกว่ายังมีชีวิตอยู่ครั้งสุดท้ายเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นอกจากผลงานจัดแสดงทั้งสองชิ้นแล้ว เรืองศักดิ์ ยังสร้างผลงานชิ้นใหม่ซึ่งเกิดจากการค้นคว้าถึงการสูญพันธุ์ของ “เนื้อสมัน” หรือกวางเขาสุ่มโดยจัดแสดงประติมากรรมเสมือนจริง ขนาดเทียบเท่ากับเนื้อสมันเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

เนื้อสมันถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เป็นสัตว์พันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แถวทุ่งรังสิต ซึ่งเป็นบริเวณที่เรืองศักดิ์ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัย มีบันทึกว่าเนื้อสมันยังมีชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2475 และถูกประกาศเป็นสัตว์สูญพันธุ์เมื่อปี พ.ศ.2481 ทั้งนี้ สาเหตุของการสูญพันธุ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัดประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ตัวอย่างเนื้อสมันสภาพสมบูรณ์ ไม่ได้จัดเก็บอยู่ในบ้านเกิดอย่างประเทศไทย แต่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ National Museum of Natural History ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หากย้อนไปถึงเหตุการณ์ช่วงล่าอาณานิคม เนื้อสมันหรือกวางเขาสุ่ม ถูกตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษตามชื่อของ SirRobert Schomburgk กงสุลสหราชอาณาจักรประจำสยามช่วงปี พ.ศ.2400-2407 ด้วยความสวยงามและเขากวางทรงตะกร้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ เนื้อสมันจึงเป็นที่สนใจของนักสะสมและได้เกิดทฤษฎีการโคลนนิ่ง (Cloning) ซึ่งเป็นความพยายามที่มนุษย์ต้องการจะอยู่เหนือกฎของธรรมชาติ

ศิลปินสร้างผลงานศิลปะเฉพาะที่ (site specific) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเนื้อสมัน เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตั้งของวารินแล็บ คอนเท็มโพรารีอย่างน่าสนใจ กล่าวคือห้องแสดงงานของวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี เป็น โถงขนาดใหญ่ซึ่งเป็นบ้านเดิมของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลนักวิจัย และนักนิเวศวิทยา คนสำคัญของประเทศไทย โดยได้ทำงานวิจัยและสนับสนุนการสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทยในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ถึงปี พ.ศ.2512 และยังได้เก็บรวบรวม ค้นคว้า และเขียนหนังสือจำนวนมากเกี่ยวกับสัตว์ป่า รวมไปถึงเรื่องราวของเนื้อสมันด้วย ทั้งนี้ พบว่า ในปี พ.ศ.2508 เป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของเนื้อสมันปรากฏอยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ

ในนิทรรศการ Reincarnations III -Ecologies of Life นี้ เรืองศักดิ์ ผู้สวมหมวกด้านการอนุรักษ์ ด้านสัตววิทยา และด้านศิลปะ นอกจากจะต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเอื้ออาทรต่อโลกและต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับมนุษยชาติแล้ว ยังต้องการเน้นย้ำบทบาทของศิลปะในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังในการขับเคลื่อนทางสังคม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ และการสื่อสารเรื่องราวที่อาจถูกปิดบังหรือหลงลืมในสังคม

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเติมเต็มนิทรรศการนี้ให้สมบูรณ์ ศิลปินและภัณฑารักษ์จะจัดเวทีเสวนาเพื่อการพูดคุยในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสัตว์ป่า และศิลปะ ร่วมกับนักสิ่งแวดล้อม และนักวิจัย ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวจากทางช่องทางออนไลน์ ดังนี้
https://youtu.be/Aeleagxf5BQ,

Documentary :
https://youtu.be/tfsjQQxBAws

และ Installation View:
https://youtu.be/8AaL6MaqVAY

นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามข้อมูลและชมรายละเอียดต่างๆ ได้จากทางเพจ https://www.facebook.com/WarinLabContemporary/